ขั้นตอน/วิธีการเพาะเห็ดขอนขาว

การเพาะเห็ดขอนขาว
            เห็ดขอนขาวเป็นเห็ดที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ  ตามขอนไม้ที่ผุพังในเขตป่าร้อนชื้น 
เช่น  ประเทศไทย  ลาว  เขมร  เวียดนามและมาเลเซีย  ประชาชนนิยมบริโภคกันมากเพราะรสชาติดี  ปัจจุบันเกษตรกรหันมาสนใจการเพาะเห็ดชนิดนี้กันมากขึ้นเรื่อย  ๆ  ประกอบกับการเพาะและการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเกินไป  และเหมาะกับสภาพดินอาหาศของไทยเรา  โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เพราะบางปีเพาะได้แม้กระทั่งฤดูหนาว


สูตรการผสมขี้เลื่อยเพาะเห็ดขอนขาว
                        1.  ขี้เลื่อย                     100  กิโลกรัม
                        2.  รำอ่อน                    10-15  กิโลกรัม
                        3.  ปูนขาว                   2 กิโลกรัม
                        4.  ยิปซั่ม                     5  ขีด
                        5.  ดีเกลือ                    4  ขีด
                        6.  ภูไมท์                     1  กิโลกรัม
                        7.  น้ำ                           65-75 %

ขั้นตอนการผสมขี้เลื่อย
            เมื่อได้วัสดุครบทุกอย่างคลุกเคล้าให้เข้ากันสุดท้ายนำน้ำมาผสมลงไป  ให้พอเหมาะอย่าให้แฉะเกินไป  บรรจุลงถุงพลาสติกอัดให้แน่น  ใส่คอขวดพลาสติก  ใส่สำลีปิดทับด้วยพลาสติกรัดด้วยยางรัด  แล้วนำไปนึ่งในอุณหภูมิ  100  องศา  ใช้เวลา  3-4  ชั่วโมง  การจับเวลาควรจับหลังจากที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมา
เป็นเส้นตรง  หลังจากนึ่งเสร็จแล้วปล่อยให้เย็นแล้วค่อยนำออกจากหม้อนึ่ง  นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อ

การเขี่ยเชื้อลงถุงพลาสติก
วัสดุอุปกรณ์ในการเขี่ยเชื้อ
                        1.  ขวดหัวเชื้อเห็ดขอนขาว
                        2.  ตะเกียงแอลกอฮอล์
                        3. สำลี
                        4.  ไม้ขีดไฟ
                        5.  กระดาษหนังสือพิมพ์  ตัดขนาด  2.5-4  นิ้ว
                        6.  ยางรัด

ขั้นตอนการเขี่ยเชื้อเห็ดขอนขาว
           นำขวดเชื้อเห็ดขอนขาวมาลนไฟที่ตะเกียงกอฮอล์  ใช้เข็มเขี่ยเชื้อ  ย่อยหัวเชื้อให้ละเอียดนำไปเคาะลงในถุงพลาสติกแต่ละถุง  ประมาณ  20-30  เมล็ด  ขวดเชื้อ  1  ขวด  เขี่ยลงถุงได้ประมาณ  30-35  ถุง  ปิดสำลีแล้วปิดกระดาษ  รัดด้วยยางรัดอีกทีให้มิดชิด  นำไปวางเรียงกันไว้บนชั้นในโรงเรือนบ่มเชื้อ
            การบ่มเชื้อเห็ดขอนขาว  จะใช้ระยะเวลาบ่มประมาณ  35-45  วัน  ก่อนนำไปเปิดดอก 
โดยใช้เซฟวิน  85  ผสมน้ำฉีดพ่นทุก  ๆ  7  วัน

การเปิดดอกในโรงเรือน
            พอบ่มเชื้อครบ  35-45  วัน  แล้วนำก้อนเชื้อไปวางเรียงไว้ในแผงโรงเรือนที่เตรียมไว้  ใช้เซฟวิน  85  ผสมน้ำรดหรือฉีดเพื่อใส่ก้อนเชื้อเห็ดแล้ว  ทิ้งไว้  2  วัน  หลังจากพ่นยาเรียบร้อยแล้ว  วันต่อมาเข้าไปแกะกระดาษ  ดึงสำลีออก  แล้วใช้หางช้อนเช็ดด้วยแอลแอฮอล์ฆ่าเชื้อ  แล้วเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างภายในปากถุงออกทุกถุง  ให้เสร็จภายใน  1-2  วัน  เสร็จแล้วทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ภายในโรงเรือน  จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม  1  วัน  วันต่อมาถอดปลอกคอออกแล้วดึงหน้าถุงพลาสติกให้เหยียดตรง  แล้วใช้มีดโกนกรีดปากถุงด้านล่าง  โดยการกรีดเข้าหาตัวเอง  รดน้ำวันละ  3  ครั้ง  คือ  เช้า  เที่ยง  เย็น  แล้วสังเกตว่าถุงใดมีดอกเห็ดออกดอกเป็นตุ่มงอกออกมาให้ใช้มีดโกนกรีดบริเวณไหล่ถุง  โดยรอบออก  ถ้าก้อนไปนยังไม่ออกดอกอย่ากรีดปล่อยไปเรื่อย  ๆ  โดยรดน้ำวันละ  3  เวลา  และก้อนใดออกดอกเต็มที่แล้วใช้มีดคม  ๆ  ตัดส่งขายตลาดได้  อย่าพยายามดึงดอกเห็ดรุ่นแรกเพราะอาจทำให้หน้าก้อนเห็ดพังได้
            **  ให้สังเกตถ้าโรงเรือนร้อนเกินไป  ดอกเห็ดจะมีขายาวไม่มีดอกหมวกเลย  ควรระบายอากาศให้บ้าง  โดยเปิดจั่วด้านหน้าและด้านหลังของโรงเรือน  วันละ  2-3  ชั่วโมง

ศัตรูของเห็ดขอนขาว
            จำพวกแมลง  เช่น  ไรไข่ปลา  ถ้าระบาดในโรงเรือนจะทำให้เสียหายต่อผลผลิตได้  ควรป้องกันล่วงหน้าเสียก่อน  เช่น  ระหว่างบ่มเชื้อ  ต้องฉีดพ่นทุก  ๆ  วัน  โรงเรือนเปิดดอกต้องพ่นยาเสียก่อน  ก่อนที่นำก้อนเห็ดเข้าไปในโรงเรือน  ถ้าระบาดในระหว่างออกดอก  ควรเก็บดอกเห็ดออกให้หมดแล้วพ่นด้วยยาเซฟวิน  85  อย่างเข้มข้น  โดยใช้ยา  9  ช้อนแกงต่อน้ำ  1  ปิ๊ป  หรือ  20  ลิตร  ฉีดพ่นให้ทั่วแล้วปิดโรงเรือนไว้  2  วัน  ไม่ให้รดน้ำ  พอครบ  2  วัน  แล้วค่อยรดน้ำวันละ  3  ครั้ง

ข้อควรระวัง
1.  การดูแลเรื่องการรดน้ำต้องให้สม่ำเสมอวันไหนฝนตกมากไม่ต้องรดน้ำมากเพียงผิวบาง  ๆ  ก็พอ
2.  ถ้าเห็ดขาเหลืองเอาหญ้าคาลงบางส่วนให้ร้อน  2-3  วัน  และลดการรดน้ำลงเหลือ  2-3  ครั้งต่อวัน
3.  ถ้ามีแมลงรบกวน  อย้าใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นดอกเห็ด  ควรเก็บดอกเห็ดให้หมดเสียก่อนค่อยพ่นยา
     ไล่แมลง
4.  ไม่จำเป็นอย่าให้บุคคลอื่นเข้าไปในโรงเรือนเห็ด  อาจจะนำเชื้อโรคหรือแมลงเข้าสู่โรงเรือนเราได้
5.  มีปัญหาควรปรึกษาผู้รู้ทันที   หรือศูนย์เชื้อเห็ดอีสานสาขาที่อยู่ใกล้บ้าน

การเพาะเห็ดนางฟ้า  เห็ดนางรม
            เห็ดนางฟ้า ,  นามรม  เป็นเห็ดที่สามารถเพาะขึ้นได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย  ปัจจุบันเกษตรกรหันมาสนใจเพาะเห็ดดังกล่าวกันมาก  เนื่องจากขั้นตอนการเพาะและการดูแลรักษาง่ายต่อการปฏิบัติ  ผู้บริโภคนิยมนำมาประกอบอาหารเพราะราคาถูก  และราชาติอร่อย  เห็ดนางฟ้า ,  นางรม  ฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะ  คือ  ฤดูฝน  ฤดูหนาว  อุณหภูมิการออกดอกเพียง  28  องศาก็สามารถออกดอกได้
สูตรผสมเห็ดนางฟ้า ,  นางรม
                        1.  ขี้เลื่อย                     100  กิโลกรัม
                        2.  รำอ่อน                    8-10  กิโลกรัม
                        3.  ปูนขาว                   2 กิโลกรัม
                        4.  ยิปซั่ม                     5  ขีด
                        5.  ดีเกลือ                    3  ขีด
                        6.  ภูไมท์                     1  กิโลกรัม
                        7.  น้ำ                           60-70 %
การผสมขี้เลื่อย
           เมื่อได้วัสดุครบทุกอย่างคลุกเคล้าให้เข้ากัน  สุดท้ายนำน้ำมาผสมลงไปให้พอเหมาะ  อย่าแฉะเกินไปบรรจุลงถุงพลาสติก  อัดให้แน่น  ใส่คอขวด  ใส่สำลี  ปิดทับด้วยพลาสติก  รัดด้วยยางรัดแล้วนำไปนึ่งในอุณหภูมิ  100  องศา  ใช้เวลา  3-4  ชั่วโมง  การจับเวลาควรจับหลังจากที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นตรง  หลังจากนึ่งเสร็จแล้ว  ปล่อยให้เย็นแล้วค่อยนำออกจากหม้อนึ่ง  นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อ
การเขี่ยเชื้อลงถุงพลาสติก
วัสดุอุปกรณ์ในการเขี่ยเชื้อ
            1.  ขวดหัวเชื้อเห็ด
            2.  ตะเกียงแอลกอฮอล์
            3.  สำลี
            4.  ไม้ขีดไฟ
            5.  กระดาษหนังสือพิมพ์  ตัดขนาด  2.5 x4
            6.  ยางรัด

ขั้นตอนการเขี่ยเชื้อ
         1.  จุดตะเกียงแอลกอฮอล์
            2.  นำเชื้อมาลนไฟที่ตะเกียง
            3.  เช็ดมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ  70  %
            4.  นำขวดเชื้อที่ลนไฟแล้วมาแคะหรือมาย่อยให้หัวเชื้อละเอียด
            5.  หลังจากเขี่ยเชื้อลงถุงเรียบร้อยแล้วปิดกระดาษแล้วรัดด้วยยางรัดทันที
            6.  นำก้อนที่เขี่ยแล้วขึ้นตั้งเรียงไว้เพื่อทำการบ่มเชื้อในโรงเรือนบ่ม  ใช้ระยะเวลาในการบ่ม
                 ประมาณ  30-35  วัน  ก็สามารถนำไปเปิดดอกในโรงเรือนเปิดดอกได้
            7.  เชื้อ  1  ขวด  ควรเขี่ยลงถุงได้  30-35  ถุง

ลักษณะโรงเรือนเห็ดนางฟ้า  เห็ดนางรม
            ลักษณะโรงเรือนขนาดกว้าง  4.5x10  เมตร  หลังคาสูงประมาณ  2.80-3  เมตร  ด้านข้างสูงประมาณ  1.40  เมตร  หลังคามุงด้วยตับหญ้าคาหรือใบจาก  ด้านข้างกั้นด้วยแสลน  60 %  โครงสร้างภายในทำเป็นแผง  เอียงทำมุม  75  องศา  การสร้างโรงเรือนควรสร้างในแนวลมมรสุม  คือ  สร้างตามแนวตะวัน  ไม่ให้ขวางตะวันเพื่อการถ่ายเทอากาศในโรงเรือนได้ดี

การดูแลรักษาและการเก็บดอกเห็ด
           หลังจากบ่มเชื้อครบ  30-35  วัน  นำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือนเปิดดอก  โดยแกะกระดาษเขี่ยข้าวฟ่างและสำลีออกให้หมด  ทำความสะอาดพื้นโรงเรือนรดน้ำให้ชุ่ม  วันละ  3  เวลา  คือ  เช้า  เที่ยง  เย็น  เห็ดจะออกดอกได้ดี

การเก็บดอกเห็ด

           ใช้มือกดปากถุงเห็ดไว้อีกมือหนึ่งค่อย  ๆ  ดึงดอกเห็ดออกจากถุง  อย่าให้หน้าก้อนเห็ดแตกและอย่าพยายามให้มีเศษขาของเห็ดปิดรูถุงเห็ด  เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราปิดปากถุงเห็ดกันดอกเห็ดรุ่นต่อไปไม่ให้ออกดอกมาได้

ศัตรูเห็ดนางฟ้า   เห็ดนางรม
         1.  เชื้อราที่หมักหมมในโรงเรือน  เช่น  ราสีส้ม  ราเขียว  ราดำ  ราสนิม  วิธีแก้  อย่าพยายามให้โรงเรือนสกปรก  ควรดูแลรักษาความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
            2.  แมลงหวี่และยุง  แมลงทั้ง  2  ชนิดจะมาเจาะไซบริเวณปากถุงและไข่เป็นตัวหนอน  วิธีแก้  พยายามอย่าให้มีแมลงระบาดในโรงเรือน  ควรไล่แมลงโดยใช้วิธีฉีดยาฆ่าแลงหรือรมควัน

การตลาด
            ปัจจุบันราคาที่ซื้อขาย  อยู่ประมาณ  20-30  บาท  นอกจากจะขายเป็นดอกเห็ดสดแล้วยังสามารถแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่นได้  เช่น  แหนมเห็ด  ข้าวเกรียบเห็ด  เป็นต้น